เครื่องจักสานของภาคเหนือ
ก่องข้าว ของชาวล้านนา
“บ้านไผ่ปง ถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวแจ๊ะชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่เมื่อว่างเว้นจากการทำเกษตรชาวบ้านก็ยังประกอบอาชีพการสานก่องข้าวจากไม้ไผ่ ซึ่งมีความพิเศษไม่เหมือนกับก่องข้าวจากที่อื่น…”
วัฒนธรรมในการบริโภคข้าวของคนไทยนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณ ในยุคสมัยไหนคงไม่อาจกล่าวย้อนได้ สิ่งหนึ่งที่คนโบราณได้กระทำควบคู่กับวัฒนธรรมการบริโภคข้าวก็คือ การหาภาชนะใส่ข้าวเพื่อเก็บข้าวสุกให้คงสภาพความร้อนได้นานก่อนถึงเวลากิน
ภาชนะใส่ข้าวประเภทหนึ่งที่คนไทยนิยมนำมาใส่ข้าวมีชื่อเรียกหลายชื่อตามแต่ภูมิภาค ในภาคอีสานจะเรียกภาชนะบรรจุข้าวเหนียวว่า “กระติ๊บข้าว” ในภาคกลางจะเรียก “กล่องใส่ข้าวเหนียว” ขณะที่ในภาคเหนือดินแดนบ้านเราจะเรียกภาชนะเดียวกันนี้ว่า “ก่องข้าว”
ว่ากันว่ากล่องใส่ข้าวเหนียว ,กระติ๊บข้าว หรือก่องข้าวนั้นเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละที่ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วกรรมวิธีการทำก็จะคล้ายกันจะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดบางส่วน อย่างเช่นกระติ๊บข้าวของอีสานนิยมสานจากไม้ไผ่เป็นสีจากธรรมชาติไม่มีลวดลาย ขณะที่ก่องข้าวของทางภาคเหนือจะนิยมทำจากใบลานสานและทำจากไม้ไผ่ แต่จะแตกต่างกันที่ลวดลายของภาคเหนือจะมีสีสันลวดลายสวยงาม
ที่หมู่บ้านไผ่ปง ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อในการทำก่องข้าวเป็นอย่างมาก กว่าร้อยปีมาแล้วที่ชาวบ้านที่นี่สืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทำก่องข้าวเหนียวมาจากบรรพบุรุษ แต่เดิมพวกเขาจะสานเพื่อแลกกับข้าวสารจากหมู่บ้านอื่น ทว่าในปัจจุบันเริ่มมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันด้วยเงิน

จากตำนานที่เล่าถึงชุมชนในเมืองแจ้ห่ม มีความน่าสนใจทำให้เราได้ทราบถึงอดีตที่มาของกลุ่มชนนี้ว่า แต่เดิมเมืองแจ้ห่มเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวลัวะ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่อาศัยอยู่บนดอยจะเรียกตนเองว่า “ลัวะ” ส่วนอีกกลุ่มจะอาศัยอยู่บริเวณที่ลุ่มเรียกตนเองว่า “แจ๊ะ” ทั้งกลุ่มชาวลัวะและชาวแจ๊ะต่างก็ตั้งชุมชนอยู่ในเขตเมืองแจ้ห่ม ขณะที่ชนพื้นเมืองทั้งสองกลุ่มอยุ่กันอย่างสงบสุขนั้น ก็ถูกพญาหลวงคำแดง ซึ่งเป็นทหารของพญางำเมืองแห่งเมืองภูกามยาวหรือพะเยา ยกทัพมาตีบ้านเมือง พวกลัวะและแจ๊ะที่กลัวตายจึงได้อพยพย้ายหนีไปอยู่รวมกันที่อื่น ซึ่งภาษาเหนือเรียกการรวมกลุ่มกันหลาย ๆ คนเป็นกลุ่มใหญ่ว่า “ข้อน” ต่อมาจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “แจ๊ะข้อน” ส่วนพวกแจ๊ะบางกลุ่มก็หนีไปซ่อน เลยเรียกเป็น “แจ๊ะซ่อน” และเพี้ยนมาเป็น “แจ้ซ้อน” ในปัจจุบัน
ต่อมาบริเวณเมืองที่อยู่เดิมของพวกแจ๊ะเกิดแผ่นดินถล่ม เจ้าเมืองและชาวบ้านก็หนีตายไปหมด ส่วนพวกแจ๊ะที่รักถิ่นฐานเดิมของตนเองรู้ข่าวเมืองถล่มผู้คนหลบหนีออกไปจากเมืองหมดแล้ว จึงอพยพกลับมาตั้งบ้านเรือนใกล้ ๆ กับเมืองเก่า แต่ด้วยความกลัวว่าแผ่นดินจะถล่มขึ้นมาอีก พวกแจ๊ะจึงเดินห่มตัว คือขย่มตัวทำให้ตัวเบาจนกลายเป็นนิสัยต่อมาชาวบ้านจึงเรียกพวกนี้ว่า “แจ๊ะห่ม” ก่อนจะเพี้ยนมาเป็น “แจ้ห่ม”
บ้านไผ่ปง ถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวแจ๊ะชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่เมื่อว่างเว้นจากการทำเกษตรชาวบ้านก็ยังประกอบอาชีพการสานก่องข้าวจากไม้ไผ่ ซึ่งมีความพิเศษไม่เหมือนกับก่องข้าวจากที่อื่นก็คือ หลังจากที่นำไม้ไผ่ซางที่จักตอกแช่น้ำเรียบร้อยแล้วก็จะเริ่มต้นจากการสานเส้นใหญ่ขึ้นมาก่อน โดยจะสานจากซ้ายไปขวาขึ้นเป็นฐานรูปทรงก่อนที่จะค่อย ๆ ฉีกเส้นไผ่ออกเป็นเส้นที่เล็กลงเรื่อย ๆ จนปรากฏเป็นลวดลายต่าง ๆ อาทิ ลายจันเกี้ยว ซึ่งเป็นลวดลายดั้งเดิมที่ทำกันมานานแล้ว และลายจันแปดกลีบที่เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาลวดลายจากเดิม นอกจากนั้นยังมีลายดอกแก้ว ลายประแจจีน ลายกัมเบ้อและลายกัมบี้ ลายสองตั้ง ลายสามตั้งที่เป็นพื้นฐานในการสาน
การสานก่องข้าวของบ้านไผ่ปงจะนิยมใช้ไผ่ในการสานที่ค่อนข้างหนากว่าการสานอย่างอื่น ซึ่งมีส่วนประกอบด้วยกันสามส่วนคือ ฝาก่อง ตัวก่องข้าวและฐานก่องข้าวที่ทำจากไม้สองแผ่นไขว้กันเป็นรูปกากบาท ผูกติดไว้กับมุมส่วนก้นของก่องข้าวด้วยหวาย ส่วนตัวก่องข้าวตรงกลางจะมีมุมสี่เหลี่ยมขึ้นมาตรงช่วงกลางจะเป็นกระเปาะ ช่วงปากก่องจะกิ่ว ฝาปิดก่องข้าวทำเป็นมุมสี่เหลี่ยมในแต่ละมุมเพื่อให้รับกับส่วนก้นและมีไม้ไผ่ขัดตรงฝาเป็นรูปกากบาท

ลวดลายของก่องข้าวบ้านไผ่ปงนั้นจะนิยมย้อมสีดำซึ่งได้จากเปลือกของต้นหยีและต้นคราม แต่ปัจจุบันพื้ชทั้งสองชนิดนี้หายากขึ้น ชาวบ้านจึงใช้สีดำเคมีมาย้อมเพาะส่วนที่เป็นลวดลาย แต่บางบ้านก็นิยมทำเป็นสีธรรมชาติของไผ่ล้วน ๆ การสานก่องข้าวแบบนี้ มีกรรมวิธีในการสานอย่างสองชั้นด้วยไผ่เส้นเดียวกันคือ ทั้งชั้นที่หนึ่งและชั้นที่สองจะสานรวมกันเป็นภาชนะเดียวไปเลย ก็เพราะว่าเดิมทุกบ้านจะหุงข้าวในตอนเช้าแล้วกินไปจนถึงเที่ยงวัน ดังนั้นเพื่อให้ข้าวสุกมีความอุ่นอยู่ได้นาน ชาวบ้านจึงมีการสานก่องข้าวให้เป็นสองชั้น เพื่ออากาศภายในจะได้ไม่ถ่ายเทมากนัก เป็นฉนวนไม่ให้อากาศที่ร้อนผ่านออกมาหมด ทำให้ข้าวที่อยู่ในก่องข้าวนั้นอุ่นอยู่ได้นาน นอกจากนั้นยังมีความทนทานและการใช้งานอยู่ได้นานอีกด้วย การสานก่องข้าวของชาวบ้านไผ่ปงนี้จะใช้วิธีการตอกแบบตอกปื้น คือการตอกตามแนวไม้ไผ่แบบขนานไปกับหลังผิวไผ่ซึ่งนิยมใช้ผิวไม้ไผ่ในการสาน
ปัจจุบันการทำก่องข้าวของชาวบ้านไผ่ปงยังคงทำกันอยู่และไปมีการพัฒนาการสานจากก่องข้าวมาเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น เช่น เสื่อ กระเป๋า ของเล่นเด็ก เป็นต้น ซึ่งชาวบ้านบอกว่ามีการพัฒนาไปตามยุคสมัยแต่ยังคงการใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุหลัก
ก่องข้าวบ้านไผ่ปงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่คนเมืองทั่วไปที่รับประทานข้าวเหนียว โดยเฉพาะเอกลักษณ์อันสวยงามของลวดลายที่ไม่เหมือนใครยังคงทำให้ก่องข้าวที่นี่ได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง
jakrapong@chiangmainews.co.th
ชื่อเรื่อง : ชุด มรดกศิลปหัตถกรรมไทย เครื่องจักสานไทย
ผู้แต่ง : วิบูลย์ ลี้สุวรรณ
ผู้จัดพิมพ์ : องค์การค้าของคุรุสภา
ปีที่พิมพ์ : 2541
จำนวนหน้า : 82 หน้า
เลขเรียกหนังสือ : 974-00-8069-3
สาระสังเขป :
กำเนิดและวิวัฒนาการของเครื่องจักสาน
มนุษย์อาจจะสามารถทำเครื่องจักสานได้ก่อนสมัยประวัติศาสตร์และทำต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ ดังปรากฏรอยภาชนะจักสานบนผิวภาชนะเครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง จากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี และภาชนะดินเผาทรงกระบอกเล็กๆ อีกชิ้นหนึ่งจาก แหล่งโบราณคดีในจังหวัดลพบุรี ภาชนะดินเผาทั้งสองชิ้นดังกล่าวมีรอยของภาชนะจักสานขัดปรากฏบนผิวด้านนอก จึงสันนิษฐานว่าทำขึ้นโดนใช้ดินเหนียวยาไล้ลงไปในภาชนะจักสาน อาจสันนิษฐานได้ว่า มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยรู้จักทำเครื่องจักสานมาก่อนการทำเครื่องปั้นดินเผา และการทำเครื่องปั้นยุคแรก อาจจะทำโดยการใช้ดินเหนียวยาไล้ลงในแม่แบบ ทิ้งไว้ให้ดินเหนียวแห้งแล้วจึงนำไปเผา ซึ่งเป็นกรรมวิธีการทำเครื่องปั้นดินเผายุคเริ่มแรก ก่อนที่จะทำเครื่องปั้นดินเผาด้วยการตีด้วยไม้และหินดุ และการปั้นโดยใช้แป้นหมุนในยุคต่อมา
การแปรรูปวัตถุดิบที่ใช้ทำเครื่องจักสานเป็นพัฒนาการสำคัญในการทำเครื่องจักสาน เพราะการใช้วัสดุที่เป็นเส้นเล็ก เช่น ตอก หวาย ย่านลิเภา ทำให้มนุษย์สามารถประดิษฐ์เครื่องจกสานให้มีรูปทรงตามต้องการ และมีความประณีตงดงามยิ่งขึ้น
การทำเครื่องจักสานบางชนิดในบางท้องถิ่น ช่างจักสานจะสานภาชนะหรือใช้ไม้ทำเป็นแบบให้มีรูปทรงตามความต้องการก่อน แล้วจึงสานทับแม่แบบอีกทีหนึ่งเพื่อให้ได้เครื่องจักสานที่มีรูปร่างและขนาดเหมือนๆกันเป็นจำนวนมาก
การทำเครื่องจักสานเป็นหัตถกรรมสำคัญยิ่งประเภทหนึ่งในสังคมเกษตรกรรม เพราะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่ผู้ใช้สามารถสานขึ้นเองจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่น การสร้างรูปททรงและกรรมวิธีในการทำเครื่องจักสานยุคแรกๆ จะไม่แตกต่างกันนัก ตั้งแต่การนำใบไม้ เถาวัลย์ มาสานเป็นภาชนะ สานเป็นเสื่อหรือเรื่องรองนั่ง ปูนอน นำใบมะพร้าว ใบลาน ใบตาล และเถาวัลย์มาสานเป็นภาชนะอย่างหยาบๆ สำหรับใส่สิ่งของซึ่งทำกันทั่วไป
วัตถุดิบและกรรมวิธี
กรรมวิธีในการทำเครื่องจักสานเริ่มมาจากการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีลักษณะเป็นเถาเป็นเส้น เช่น เถาวัลย์ หวาย กระจูด กก มาสานสอดขัดกันอย่างง่ายๆ โดยแทบไม่ต้องแปรรูปวัตถุเลย ต่อมาเมื่อมนุษย์ต้องการผลิตเครื่องจักสานให้มีรูปทรงและมีลวดลายละเอียดประณีตมากขึ้น จึงแปรรูปวัตถุดิบด้วยการ “จัก” เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่เป็นเส้นเล็กสานได้ละเอียดยิ่งขึ้น ทำให้มนุษย์สามารถจักสานให้มีรูปทรงและลวดลายละเอียดประณีตตามต้องการ
เครื่องจักสานเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่มนุษย์ทำขึ้นใช้ทั่วโลกก่อนที่จะมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ผลิตด้วยเครื่องจักและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ มีกรรมวิธีในการสานและรูปแบบคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ใช้วัตถุดิบแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิศาสตร์ของท้องถิ่น เครื่องจักสานทั่วๆ ไปจะมีรูปแบบตามความนิยม ขนบประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนแต่ละท้องถิ่น
ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะนำมาแปรรูปเป็นวัสดุสำหรับทำเครื่องจักสานมากที่สุด เครื่องจักสานไม้ไผ่จึงเป็นเครื่องจักสานที่นิยมใช้และผลิตกันแพร่หลายในภูมิภาคเอเชีย และมีกระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ ไผ่ที่นำมาทำเครื่องจักสานได้ดีมีหลายพันธุ์ ได้แก่ ไผ่ ไผ่สีสุก ไผ่รวก ไผ่เฮี้ยะ ไผ่ข้าวหลาม นอกจากไผ่หลายชนิดซึ่งเป็นไม้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการนำมาทำเครื่องจักสานได้ดีแล้ว ยังมีวัตถุดิบจากธรรมชาติอีกหลายชนิดที่นำมาใช้ทำเครื่องจักสานได้ดี เช่น หวาย ซึ่งเป็นพรรณไม้อีกชนิดหนึ่งทีใช้ทำเครื่องจักสานได้ดี อาจจะสานด้วยหวายทั้งหมดหรือใช้หวายผสมกับวัสดุชนิดอื่น
ย่านลิเภา มีมากในบริเวณภาคใต้ การนำมาทำเครื่องจักสานจะลอกเอาเฉพาะเปลือกมาจักเป็นเส้นแล้วสานหุ้มโครงที่ทำด้วยหวายหรือไม้ไผ่
กระจูด ลำต้นกลม ข้างในกลวง และมีเยื่ออ่อนยุ่นคั่นเป็นข้อๆ ใช้สานเสื่อและกระสอบ การนำกระจูดมาทำเครื่องจักสาน จะต้องทุบให้แบนแล้วทิ้งไว้ให้แห้งก่อนที่จะสานเป็นเครื่องจักสาน
นอกจากการใช้ต้นหรือเถาของพืชพันธุ์ไม้บางชนิดมาทำเครื่องจักสานแล้ว คนไทยยังนำใบไม้บางชนิดมาทำเครื่องจักสานด้วย เช่น ใบตาล ใบมะพร้าว ใบลาน ใบลำเจียก หรือปาหนัน เตย การนำวัตถุดิบธรรมชาติเหล่านี้มาทำเป็นเครื่องจักสานนั้น มนุษย์ค่อยๆ เรียนรู้คุณสมบัติของวัตถุดิบแต่ละชนิด แล้วเลือกสรรนำมาแปรรูปวัตถุดิบให้มีลักษณะเหมาะสมในการนำมาสานเป็นเครื่องจักสาน
เครื่องมือที่ใช้ทำเครื่องจักสาน
มีด มี 2 ชนิด คือ มีดสำหรับผ่าและตัด มักเป็นมีดขนาดใหญ่ สันหนา และมีดตอก ใช้สำหรับจักตอกหรือเหลาหวาย เป็นมีดปลายเรียวแหลม ปลายและด้ามงอน ส่วนมากตัวมีดจะสั้นกว่าด้าม
เหล็กหมาด เหล็กปลายแหลม ใช้สำหรับ เจาะ ไช งัด แงะ มี 2 ชนิด คือ เหล็กหมาดปลายแหลม ใช้ไชหรือแงะเครื่องจักสานเพื่อร้อยหวายผูกโครงสร้าง ผูกขอบ หรือเจาะหูกระบุง ตะกร้า ส่วนเหล็กหมาดปลายหอก ใช้เจาะรูเครื่องจักสานเมื่อต้องการผูกหวายเสริมโครงสร้างให้แข็งแรง
คีมไม้ เครื่องมือจำเป็นในการทำเครื่องจักสาน รูปร่างคล้ายคีมทั่วไป แต่มีขนาดใหญ่และทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ช่วยให้ช่างจักสานเข้าขอบภาชนะจักสานได้สะดวกโดยไม่ต้องใช้ผู้ช่วย
การสานและลายสาน
ลายขัด เป็นวิธีการสานแบบพื้นฐานที่เก่าแก่ที่สุด ลักษณะของลายขัดเป็นการสร้างแรงยึดระหว่างตอกด้วยการขัดกันเป็นมุมฉากระหว่างแนวตั้งกับแนวนอน
ลายทแยง เป็นวิธีการสานที่ใช้ตอกสอดขัดกันในแนวทแยง ไม่มีเส้นตั้งและเส้นนอนเหมือนลายขัด แต่จะสานขัดกันตามแนวทแยงเป็นหกเหลี่ยมต่อเชื่อมกันไปเรื่อยๆ คล้ายรวมผึ้ง ลายชนิดนี้จึงมักสานโปร่ง
ลายขดหรือถัก เป็นการสานที่ใช้กับวัสดุที่ไม่สามารถคงรูปอยู่ได้ด้วยตัวเอง
ลายอิสระ เป็นการสานที่ไม่มีแบบแผนตายตัว ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้สานที่จะคิดประดิษฐ์ขึ้นเองให้สอดคล้องกับความต้องการของตน ลายประเภทนี้มักสานตามความต้องการของผู้สานและแบบแผนที่สืบทอดกันมาในแต่ละท้องถิ่น
เครื่องจักสานภาคเหนือ
จากสภาพการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมทำให้ภาคเหนือเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือเครื่องจักสานที่สำคัญ นอกจากนี้ ภาคเหนือยังมีวัตถุดิบหลายชนิดที่นำมาทำเครื่องจักสานได้ เช่น กก แหย่ง ใบลาน และไม้ไผ่ เฉพาะอย่างยิ่งไม้ไผ่ มีหลายชนิดที่ใช้ทำเครื่องจักสานได้ดี
ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และศาสนาของภาคเหนือก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เครื่องจักสานภาคเหนือมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง การทำเครื่องจักสานพื้นบ้านภาคเหนือ หรือล้านนาไทยนั้น ทำสืบต่อกันมาแต่โบราณ ดังมีหลักฐานปรากฏในภาพจิตกรรมฝาผนังหลายแห่งในวัดของภาคเหนือ
นอกจากนี้ วัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวของชาวเหนือก็เป็นองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดเครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคข้างเหนียวหลายอย่าง เช่น ลังถึง ก๋วย ซ้าหวด ก่องข้าว แอบข้าว เปี๊ยด
ก่องข้าว ภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่ง สานด้วยไม้ไผ่ มีขนาดและรูปทรงต่างๆ กัน แอบข้าว หรือแอ๊บข้าว ภาชนะใส่ข้าวเหนียวเช่นเดียวกับก่องข้าว แต่มีขนาดเล็กกว่าสำหรับพกพาติดตัวเวลาไปทำงานนอกบ้าน นอกจากนี้ในภาคเหนือยังมีเครื่องจักสานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ใช้กันแพร่หลายอีกหลายอย่างเช่น บุง หรือ เปี้ยด ภาชนะสานสำหรับใส่ของเช่นเดียวกับกระบุงของภาคกลาง แต่บุงภาคเหนือมีรูปร่างต่างกันไป บุงภาคเหนือนอกจากจะใช้ใส่เมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ แล้ว ยังใช้เป็นภาชนะสำหรับตวงหรือวัดปริมาณของเมล็ดพืชผลด้วย
เครื่องจักสานของภาคเหนือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ น้ำทุ่ง หรือน้ำถุ้ง เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ ยาด้วยชันและน้ำมันยาง ใช้สำหรับตักน้ำจากบ่อน้ำ รูปร่างของน้ำทุ่งเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยเป็นอย่างดี คือมีลักษณะคล้ายกรวยป้อมๆ ส่วนก้นมนแหลม ปากมีไม้ไขว้กันเป็นหูสำหรับผูกกับเชือกเพื่อสาวน้ำทุ่งขึ้นมาจากบ่อน้ำ
นอกจากตัวอย่างของเครื่องจักสานไม้ไผ่ภาคเหนือดังกล่าวแล้ว ยังมีเครื่องจักสานที่ใช้ในชีวิตประจำวันอีกหลายชนิด เช่น ซ้าหวด กัวะข้าว ก่องข้าว แอบข้าว โตก ฝาชี แอบหมาก แอบเมี้ยง ซ้าชนิดต่างๆ หมวกหรือกุ๊บ ก๋วย ก๋วยก้า ก๋วยหมู ก๋วยโจน เข่งลำไย ซ้าล้อม ซ้าตาห่าง ซ้าตาทึบ หรือบุงตีบ น้ำทุ่ง น้ำเต้า คุ วี ต่าง เปี้ยด หรือบุงชนิดต่างๆ เปล เอิบ ไซชนิดต่างๆ สุ่ม เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าเครื่องจักสานของภาคเหนือนั้นมีมากมายหลายชนิด บางชนิดมีความผูกพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างยากที่จะแยกจากกันได้มาแต่โบราณ แม้ทุกวันนี้ชาวบ้านก็ยังใช้สอยกันอยู่ ปัจจุบันในภาคเหนือหลายท้องถิ่นก็ยังคงทำเครื่องจักสานกันอยู่ จะเปลี่ยนไปบ้างก็เป็นเครื่องจักสานที่ทำเพื่อการค้า ซึ่งจำเป็นต้องดัดแปลงรูปร่างของเครื่องจักสานให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภค เครื่องจักสานพื้นบ้านที่ชาวบ้านใช้สอยในชีวิตประจำวันนั้น ส่วนใหญ่ยังคงรูปแบบเดิมและมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นโดดเด่น